สีรถยนต์มีผลทางกฎหมาย
เรื่องของสีรถยนต์เป็นความชอบแต่ละบุคคลที่แตกต่างกัน บางคนก็ยึดตามความชอบ บางคนก็ถือตามความเชื่อเราจึงเห็นรถยนต์หลายคันที่วิ่งไปมาบนท้องถนนด้วยสีสันที่หลากหลาย และรถแต่ละรุ่นก็มีสีรถมากมายให้ได้เลือกมากมายแตกต่างกันไป
สีรถยนต์มีผลทางกฎหมาย
เพราะสีรถไม่สามารถเปลี่ยนไปมาได้อย่างสีลิปสติก หลายคนจึงต้องคิดแล้วคิดอีกเพื่อที่จะได้สีรถยนต์ที่ตรงใจ แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไปเกิดอยากจะเปลี่ยนสีรถอีก ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้เลย เพราะมีเรื่องของกฎหมายมาเกี่ยวข้อง หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ต้องการเปลี่ยนสีรถยนต์ เรามีเรื่องราวน่าสนใจมาฝากเกี่ยวกับกฎหมายสีรถยนต์ ว่าจะมีรายละเอียดและวิธีการแจ้งเปลี่ยนสีรถอะไรที่น่าสนใจบ้าง
กฎหมายเรื่องการระบุสีรถในคู่มือจดทะเบียน
การเปลี่ยนสีรถยนต์ให้ต่างไปจากที่พ่นมาจากโรงงานมีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. 2549 กับการกำหนดสีและลักษณะของรถ โดยมีการกำหนดสีตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้
1. รายการสีรถที่ถูกตามระเบียบของกรมขนส่งทางบก
- กรณีตัวรถมีสีเดียว ให้กำหนดสีที่เป็นสีหลักโดยไม่ต้องคำนึงถึงความเข้มของสีที่แตกต่างกัน
- กรณีที่ตัวรถมีหลายสี โดยแต่ละสีแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเจนในบริเวณตัวถังส่วนที่สำคัญของรถ (ฝากระโปรงหน้า-ท้าย หลังคา หรือประตู) ให้กำหนดสีที่เป็นสีหลักเป็นสีของรถไม่เกิน 3 สี เช่น ตัวรถมีสีขาวแต่ส่วนของหลังคามีสีแดงให้กำหนดเป็นสีขาว-แดง หรือตัวรถมี 3 สีคือ สีขาว สีแดง และสีดำ ให้กำหนดเป็นสีขาว-แดง-ดำ ส่วนกรณีตัวรถมีมากกว่า 3 สี หากสามารถกำหนดสีหลักของตัวรถได้ ให้กำหนดสีหลักไว้ 2 สี เช่น สีหลักเป็นสีขาวและสีแดง ในสมุดคู่มือจดทะเบียนรถให้ระบุเป็น สีขาว-แดง-หลาย
- กรณีสีคาดหรือแถบคาดตกแต่งรถ โดยไม่ทำให้สีหลักของรถเปลี่ยนแปลงไป ไม่ต้องกำหนดเป็นสีรถ
หากไม่สามารถกำหนดสีหลักได้ให้ระบุในสมุดคู่มือประจำรถเป็น “หลายสี” ไม่ว่าจะเปลี่ยนสีรถโดยวิธีติดสติกเกอร์ ฟิล์ม หรือคาร์บอนเคฟล่าหรือวัสดุอื่นใดก็ตามจะต้องให้เจ้าหน้าที่กำหนดสีรถให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้างต้น โดยสีอื่นจะต้องมีไม่เกินครึ่งหนึ่งของสีหลักที่จดทะเบียนไว้ เช่น การเปลี่ยนฝากระโปรงหน้าเป็นคาร์บอนเคฟล่าสีดำ ผิดจากตัวถังที่เป็นสีขาว ตามหลักถึอว่าไม่เกินครึ่งหนึ่ง ไม่มีความผิด แต่ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่แต่ละคนได้เช่นกัน
เปลี่ยนสีรถ แจ้งกี่วัน? ต้องทำอย่างไรบ้าง
ทุกครั้งที่นำรถไปเปลี่ยนสีใหม่ให้แตกต่างจากเดิมจากที่เคยจดทะเบียน ไม่ว่าจะด้วยกรรมวิธีใดก็ตาม จำเป็นที่จะต้องแจ้งเปลี่ยนสีรถยนต์กับกรมการขนส่งทางบกทุกครั้งได้ที่สำนักงานขนส่งทั่วไทย ตามข้อกฎหมาย พรบ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 13 รถใดที่จดทะเบียนแล้ว หากมีการเปลี่ยนสีรถ ให้ผิดไปจากที่จดทะเบียนไว้ เจ้าของรถต้องแจ้งนายทะเบียนภายในเจ็ดวันนับแต่วันเปลี่ยนแปลงสีรถมากกว่า 30% ของพื้นที่ตัวถังรถทั้งหมด
ประกาศจากกรมขนส่งทางบก ว่าด้วยเรื่องของการลงทะเบียนสีรถ
เจ้าของรถต้องแจ้งเปลี่ยนสีรถยนต์ที่กรมการขนส่ง แต่หากเป็นการเปลี่ยนสีรถเฉพาะบางจุด ที่ไม่เกิน 30% ในตัวถังไม่จำเป็นต้องแจ้ง ยกเว้นกรณีสีคาดหรือแถบคาดที่ใช้ตกแต่งรถ โดยไม่ทำให้สีหลักของรถเปลี่ยนแปลงไปและไม่ถือว่าเป็นสีรถ ไม่ต้องแจ้งเปลี่ยนสีรถแต่อย่างใด
กรณีที่เปลี่ยนสีรถ ในส่วนฝากระโปรงหน้ารถ หรือกระโปรงท้ายรถให้เป็นอีกสีที่แตกต่างจากสีเดิมที่จดทะเบียนไว้ ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสีเกิน 30% ของรถ ต้องแจ้ง กรมการขนส่งทางบก ให้เป็น รถสองสี (ทูโทน) หากไม่แจ้งจะมีความผิดตาม พรบ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 13,มาตรา 60 ต้องโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
ขั้นตอนการดำเนินการแจ้งเปลี่ยนสีรถ
เตรียมเอกสารให้พร้อมเพื่อแจ้งดำเนินการกับกรมการขนส่งทางบก โดยเอกสารหลักฐานที่จำเป็นดังนี้
• คู่มือจดทะเบียนรถ
• สำเนาบัตรประชาชน
• ใบคำร้องแก้ไขเพิ่มเติมรายการในทะเบียนรถ
• ใบเสร็จรับเงินค่าจ้างทำสี(กรณีให้ร้านทำสีให้),
• แบบแก้ไขสีด้วยตนเอง (กรณีทำสีด้วยตนเอง)
• รถของคุณที่ทำสีใหม่
เจ้าของรถที่ต้องการแจ้งเปลี่ยนสีรถสามารถขับรถเข้ายื่นเอกสารต่อเจ้าหน้าที่ ณ จุดประชาสัมพันธ์ “Drive Thru Service” ภายในอาคารตรวจสภาพรถโดยไม่ต้องกรอกแบบคำขอ และเข้ารับการตรวจสภาพจากช่างผู้ตรวจได้ทันที เพื่อไปดำเนินการทางทะเบียนในช่องบริการ “Drive Thru Service” ณ กรมการขนส่งทางบก จตุจักร โดยมีค่าธรรมเนียม การแจ้งเปลี่ยนสีรถ 50 บาท ค่าดำเนินการตรวจสภาพรถโดยกรมการขนส่งทางบก 50 บาท และค่าคำขอ 5 บาท
เมื่อเปลี่ยนสีรถแล้ว อย่าลืมนำหลักฐานไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ด้วย
จะเห็นได้ว่าค่าธรรมเนียมในการดำเนินการนั้นถูกแสนถูก อีกทั้งการดำเนินการก็ง่ายแสนง่ายสามารถทำได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นถ้าหากคุณเองต้องการที่จะเปลี่ยนสีตัวรถใหม่ นอกจากจะเลือกสีที่ถูกใจได้แล้ว อย่าลืมดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วยนะคะ
Comments