top of page
  • Writer's pictureAdmin

ล้าง 4 ความเชื่อผิดๆ …เวลาที่จะเลือกซื้อรถยนต์มือสอง

เลือกซื้อรถยนต์มือสอง ใครๆก็กลัวถูกหลอก แต่จะป้องกันได้อย่างไร นั่นแหละปัญหาสำคัญ ถ้ายังมีความเชื่อผิดๆ กันอยู่ ทิพย์ ออโต้ของล้างความเชื่อผิดๆ เวลาจะซื้อรถมือสองดังนี้



"รถเต็นท์ต้องย้อมแมวเสมอ – รถบ้านต้องสภาพดีกว่า"

ความเชื่อผิดๆ :

คนส่วนใหญ่ยังเชื่อกันอยู่ว่า การซื้อรถมือสองเต็นท์รถมือสอง ต้องเสี่ยงต่อการย้อมแมว ต้องถูกหลอก มักเอารถเก่า สภาพแย่มาหลอกขาย เช่น เคยชนยับ เคยน้ำท่วม มีส่วนจริงบ้างเท่านั้น แต่ไม่ใช่ทุกเต็นท์ ส่วนรถที่ประกาศขายเองโดยเจ้าของ หรือที่เรียกกันว่า รถบ้าน หลายคนมองว่า น่าจะสภาพดีกว่ารถเต็นท์ เพราะเจ้าของใช้เอง ขายโดยไม่มีคนกลางราคาถูกกว่า รถก็สภาพดีกว่า ไม่มีการย้อมแมว


ความจริงแล้ว :

รถมือสองจะมีสภาพดีหรือไม่ ไม่เกี่ยวกับแหล่งที่ขาย ขึ้นอยู่กับการดูแลและการใช้งานของเจ้าของเดิมและการปรับสภาพของผู้ขาย เรื่องเต็นท์ย้อมแมว หรือเน้นกำไรสูงๆ มีมาตลอดและยังมีอยู่ แต่เต็นท์หลายแห่งในปัจจุบัน ต้องการทำธุรกิจระยะยาว ไม่รับซื้อรถสภาพแย่ๆ รถที่ขายอยู่ก็มีสภาพดี เพื่อให้ขายง่ายและสร้างชื่อเสียง ในระยะยาว เพื่อให้ลูกค้าคนเดิมวนกลับมาซื้ออีกหรือปากต่อปากบอกเพื่อนๆ บวกกับปัจจุบันมีการเข้าถึงข้อมูลด้วยอินเตอร์เน็ตได้มากขึ้น ทำให้คนซื้อสามารถหาข้อมูลและเปรียบเทียบข้อมูล ตลอดจนดูรีวิวต่างๆที่เกี่ยวข้องได้มากขึ้น ทำให้แต่ละเต้นท์ต้องรักษาชื่อเสียง

ส่วนรถบ้านนั้น มีทั้งแท้และเทียม เพราะอาจจะมีพ่อค้ารถมาเนียนขายทีละคัน หรืออาจจะใช้วิธีฝากขายกับคนที่ไว้ใจ ปลอมเป็นรถบ้าน สังเกตได้ว่าผู้ขายจะไม่ค่อยรู้รายละเอียดของรถคันนั้น ส่วนรถบ้านแท้ๆ ขายโดยเจ้าของจริง ไม่จำเป็นว่ารถจะมีสภาพดี เพราะเขาอาจจะดูแลรถมาไม่ดี จนเต็นท์ไม่รับซื้อหรือไม่รับเทิร์น เลยต้องมาขายเอง


ความเข้าใจที่ถูกต้อง :

ให้ความเป็นกลางในใจในเรื่องของแหล่งที่ขาย ให้คิดว่าไม่ว่าจะซื้อที่ไหนก็มีโอกาสถูกย้อมแมวได้พอกัน จะได้ไม่ชะล่าใจตรวจสอบสภาพรถให้ละเอียดก่อนตัดสินใจ


"รถเต็นท์ราคาแพง – รถบ้านราคาถูก"

ความเชื่อผิดๆ :

ความเชื่อนี้ไม่ผิดเท่าไรนัก เพราะรถในเต็นท์ส่วนใหญ่ มักจะมีราคาแพงกว่ารถบ้านแท้ๆ เพราะทำธุรกิจก็ต้องมีกำไร หรือต้องมีค่าใช้จ่ายในการปรับสภาพ เพราะรถเต้นท์ต้องเนี๊ยบ ซ่อมแซมเบื้องต้นมาแล้ว มีค่าใช้จ่ายในการโฆษณาที่รถบ้านไม่มี รถบ้านบางคันอาจจะตั้งราคาไว้แพง เพราะเจ้าของศึกษาราคาจากรถเต็นท์ที่ประกาศไว้ หรือแพงโอเวอร์ไปเลยก็มี


จริงแล้ว :

รถเต็นท์อาจแพงกว่ารถบ้าน แต่ถ้าซื้อเป็นเงินผ่อนก็สะดวกดี เพราะมีบริการหรือติดต่อแหล่งเงินกู้ให้ได้ หรือถ้าบางเต็นท์ร้อนเงิน หรือใช้นโยบายเงินหมุนเร็ว กำไรนิดหน่อยก็ขายดีกว่า แช่นาน ราคาก็อาจไม่แพง


ความเข้าใจที่ถูกต้อง :

ตั้งเงื่อนไขในการซื้อไว้ว่า ราคาไม่เกี่ยวกับแหล่งที่ขาย จะซื้อที่ไหน ขอให้สภาพดีแล้วมีราคาที่เหมาะสมกันเป็นพอ


"รถสีสวย คือ สภาพดี"

ความเชื่อผิดๆ :

ไม่แปลกที่เมื่อเห็นรถคันใดสีสวยเงางาม ไม่มีรอยเฉี่ยวชนค้างอยู่ ก็จะคิดว่า รถคันนี้สภาพดี เพราะเป็นสิ่งที่มองเห็นเป็นอย่างแรก และไม่ซับซ้อนในการดู ถึงจะซ่อมสีมาหรือพ่นใหม่ทั้งคัน แต่ถ้าทำมาเรียบร้อย ไม่เป็นคลื่นเป็นลอน อย่างน้อยก็ดูดี และอาจทำให้ผู้ซื้อชะล่าใจ ดูส่วนอื่นไม่ละเอียดเท่าที่ควร

ความจริงแล้ว :

ที่เห็นว่ารถสีสวยแต่อาจเป็นเพราะซ่อมมาแล้วหรือทำมาใหม่ทั้งคัน หลังจากเกิดอุบัติเหตุ สวยเงางามไม่พอ จำเป็นต้องดูในรายละเอียดว่า ทำไมถึงสีเนียน เป็นสีเดิมจากโรงงานจริง หรือสีพ่นใหม่ ซึ่งต้องเกี่ยวข้องกับอายุของรถด้วย ถ้ารถใหม่อายุไม่เกิน 7-8 ปี ซึ่งเป็นอายุเฉลี่ยของสีจากโรงงานผลิตที่พอจะทนอยู่ได้ ก็ไม่ควรจะมีการทำสีใหม่มาทั้งคัน

ถ้าเคยซ่อมสีมาแผลสองแผลก็เป็นเรื่องปกติ แต่หากทำสีมาทั้งคันสันนิษฐานได้ 2 สาเหตุหลัก คือ เกิดอุบัติเหตุหนักหรือขาดการดูแล


ความเข้าใจที่ถูกต้อง :

สีเป็นเพียงเปลือกนอก ถ้าเป็นรถใหม่ สีเดิมจากโรงงานย่อมดีที่สุด หลีกเลี่ยงการซื้อรถปีใหม่ๆ ที่ทำสีมาใหม่ทั้งคัน เพราะยังไงก็ไม่เนี้ยบ ไม่ทนเท่าสีโรงงาน ส่วนรถเก่าถ้าทำสีมาใหม่ ควรสวยทั้งนอกทั้งใน ละอองสีไม่เลอะเทอะและอย่าลืมดูส่วนอื่นๆ ประกอบการตัดสินใจด้วย


"เลขระยะทางบนหน้าปัด อย่าเชื่อมาก"

ความเข้าใจผิดๆ :

แม้คนส่วนใหญ่จะพอทราบกันว่า เลขกิโลเมตรบนมาตรวัดระยะทางหรือเรียกกันแบบชาวบ้านว่าไมล์ สำหรับการซื้อขายรถมือสองนั้นเชื่อถือแทบไม่ได้ เพราะสามารถหมุนเลขกลับได้ง่าย แต่ผู้ซื้อก็อดไม่ได้ที่จะดูเลขไมล์ ประกอบการตัดสินใจด้วยเสมอ ดูเลขไมล์แล้ว ก็ไม่ค่อยเชื่อ บางคนยังไล่ไปดูร่องรอยการรื้อหน้าปัดด้วย ส่วนรถที่ใช้เลขไมล์เป็นดิจิตอล คนส่วนใหญ่คิดว่าเปลี่ยนแปลงจากการใช้งานจริงไม่ได้ จริงๆแล้วทำได้ แต่อาจจะยากกว่าแบบอนาล็อก


ความจริงแล้ว :

ไม่ควรถือว่าเลขไมล์บนมาตรวัดเป็นตัวแปรสำคัญในการตัดสินใจ ควรดูสภาพส่วนอื่นที่สำคัญมากกว่าการเชื่อตัวเลขบนหน้าปัด เพราะสามารถเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ


ความเข้าใจที่ถูกต้อง :

เลขไมล์แทบไม่มีผลต่อการตัดสินใจ ถ้าสภาพของอุปกรณ์อื่นไม่สอดคล้องกัน เช่น เลขไมล์น้อย แต่เบาะทรุด เปื่อย ปุ่มกดต่างๆ เลอะเลือนหรือถูกกดจนเลี่ยนมนไปหมดแล้ว


1,559 views0 comments

Comments


bottom of page