top of page
  • Writer's pictureAdmin

อันตรายจากแสงแดดจัด


อันตรายจากแดดจัด ๆ ร้ายกว่าที่คิด !

รังสี UV หรือ รังสีอัลตราไวโอเลต จริง ๆ แล้วก็มีทั้งโทษและประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายเรา ทว่ารู้สึกกันไหมคะว่าอากาศช่วงนี้ร้อนมากเป็นพิเศษ แค่สัมผัสแสงแดดแป๊บเดียว ผิวก็แสบแล้ว นั่นแสดงว่า ผิวหนังของเราก็ได้รับรังสียูวีในระดับที่รุนแรงด้วยเช่นกัน ซึ่งดัชนียูวี หรือ UV Index แบ่งความรุนแรงของเป็น 5 ระดับ คือ


สีเขียว (0-2) Low : ความรุนแรงต่ำ มีผลกระทบน้อยต่อผิวหนัง แต่หากเป็นคนที่ผิวไหม้แดดง่าย สามารถทาครีมกันแดด และสวมแว่นกันแดดได้


สีเหลือง (3-5) Moderate : ความรุนแรงปานกลาง เริ่มมีผลต่อผิวหนัง ในช่วงแดดเปรี้ยงควรอยู่ในที่ร่ม หากต้องอยู่กลางแจ้ง ควรสวมเสื้อผ้ามิดชิด สวมหมวกปีกกว้าง ทาครีมกันแดด


สีส้ม (6-7) High : ความรุนแรงสูง ควรลดเวลาอยู่กลางแจ้งในช่วง 10.00-16.00 น. เนื่องจากเป็นช่วงแดดจัด หากต้องออกแดด ควรสวมเสื้อผ้ามิดชิด สวมหมวกปีกกว้าง ทาครีมกันแดดซ้ำทุก 2 ชั่วโมง


สีแดง (8-10) Very High : ความรุนแรงสูงมาก สามารถทำให้ผิวไหม้แดดได้รวดเร็ว และส่งผลกระทบต่อดวงตาได้ ควรป้องกันตัวเองด้วยการลดเวลาอยู่กลางแจ้งในช่วง 10.00-16.00 น. สวมเสื้อผ้ามิดชิด สวมหมวกปีกกว้าง ทาครีมกันแดดซ้ำทุก 2 ชั่วโมงหากต้องเผชิญกับแสงแดด


สีม่วง (มากกว่า 11 ขึ้นไป) Extreme : ความรุนแรงสูงจัด ควรหลีกเลี่ยงการออกแดด โดยเฉพาะในช่วงเวลา 10.00-16.00 น. เพราะเป็นอันตรายต่อดวงตาและผิวหนังได้ภายในไม่กี่นาที หากต้องอยู่กลางแจ้ง ควรสวมเสื้อผ้ามิดชิด ใส่หมวกปีกกว้าง สวมแว่นกันแดดชนิดป้องกันรังสียูวี ทาครีมกันแดด SPF มากกว่า 30 และ PA มากกว่า 3+ และไม่ควรอยู่กลางแจ้งนานเกิน 3 ชั่วโมง


ทั้งนี้ ข้อมูลจาก ทวิตเตอร์ @SamitivejClub ของโรงพยาบาลสมิติเวช ระบุด้วยว่า ค่าเฉลี่ย UV Index ของไทยอยู่ที่ 11-12 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสีม่วง ที่มีความรุนแรงสูงจัด



รู้จัก รังสียูวี (UV) หรือรังสีอัลตราไวโอเลต

รังสีอัลตราไวโอเลตคือพลังงานรูปแบบหนึ่งซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เดินทางผ่านตัวกลางในรูปของคลื่น โดยมีความยาวคลื่นอยู่ระหว่าง 40-400 นาโนเมตร มีแหล่งกำเนิดหลักมาจากแสงอาทิตย์ หรืออาจเกิดจากอุปกรณ์ที่ปล่อยรังสียูวีออกมา เช่น หลอดแบล็คไลท์ (Black Lights) เครื่องทำผิวแทน (Tanning Booth) รวมถึงหลอดไฟชนิดต่าง ๆ รังสียูวีแบ่งออกเป็น 3 ชนิดหลัก ๆ ตามความยาวคลื่นที่ต่างกัน คือ

รังสียูวีเอ (UVA) รังสียูวีบี (UVB) และรังสียูวีซี (UVC)


รังสียูวีเอ (UVA) มีความยาวคลื่นอยู่ในช่วง 320-400 นาโนเมตร และไม่ถูกดูดซับจากชั้นบรรยากาศที่ห่อหุ้มโลก คนเราจึงได้รับรังสีชนิดนี้มากกว่าชนิดอื่น ๆ


รังสียูวีบี (UVB) มีความยาวคลื่นอยู่ในช่วง 290-320 นาโนเมตร ชั้นบรรยากาศที่ห่อหุ้มโลกดูดซับรังสีชนิดนี้ไม่ได้ทั้งหมด ทำให้มีบางส่วนตกลงมายังพื้นโลก


รังสียูวีซี (UVC) มีความยาวคลื่นอยู่ในช่วง 220-290 นาโนเมตร ชั้นบรรยากาศโลกสามารถดูดซับรังสียูวีซีจากธรรมชาติไว้ได้ทั้งหมด รังสีชนิดนี้จึงไม่ตกลงมายังพื้นโลก


รังสีอัลตราไวโอเลต UV ภัยร้ายใกล้ตัว

หากได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตในปริมาณมากติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลกระทบต่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้


ผลกระทบต่อผิวหนัง

1. ผิวคล้ำแดด เมื่อผิวหนังสัมผัสกับรังสียูวี ร่างกายจะสร้างเม็ดสีเมลานิน (Malanin) ขึ้นมาเป็นเกราะป้องกันผิวหนัง ทำให้ผิวมีสีคล้ำขึ้น เนื่องจากยูวีเอจะไปกระตุ้นการสร้างเม็ดสีของเซลล์ผิวชั้นนอก ส่งผลให้ผิวคล้ำขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่จะกลับมาเป็นสีปกติได้ในเวลาไม่นาน ส่วนยูวีบีนั้นไม่ทำให้ผิวคล้ำขึ้นในทันที แต่อาจเกิดขึ้นหลังจากผ่านไปแล้วประมาณ 3 วัน และใช้เวลานานหลายสัปดาห์จึงกลับเป็นปกติ นอกจากนี้ ยูวีบียังส่งผลให้ผิวชั้นหนังกำพร้าหนาขึ้นอีกด้วย

2. ผิวไหม้จากแดด เกิดขึ้นเมื่อได้รับรังสียูวีบีในปริมาณสูงจนทำให้เซลล์ผิวหนังชั้นนอกถูกทำลาย ผู้ที่มีอาการรุนแรง ผิวหนังอาจลอก เป็นแผลพุพอง และรู้สึกเจ็บปวด อีกทั้งเซลล์ผิวหนังที่ถูกสร้างขึ้นใหม่จะไวต่อรังสียูวีและบอบบางกว่าเซลล์ผิวเดิม ส่วนผู้ที่อาการไม่รุนแรงจะมีเพียงผื่นแดงขึ้นบริเวณผิวหนังที่โดนแสงแดดและค่อย ๆ หายเป็นปกติใน 2-3 วัน ทั้งนี้ การมีผิวไหม้จากแดดอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งผิวหนังได้ด้วย

3. ริ้วรอย รังสียูวีเอเดินทางทะลุผ่านผิวหนังชั้นนอกไปยังชั้นหนังแท้ และส่งผลต่อกระทบต่อโครงสร้างของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันได้ ทำให้ผิวสูญเสียความยืดหยุ่น เป็นต้นเหตุของริ้วรอยและความหย่อนคล้อย

4. อาการแพ้แดด เกิดกับผู้ที่ผิวหนังไวต่อรังสียูวี แม้ได้รับในปริมาณเพียงเล็กน้อยก็ก่อให้เกิดอาการแพ้คล้ายผิวไหม้ได้ ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากอาหารที่บริโภค เครื่องสำอาง หรือยาบางชนิด เช่น ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาแก้ปวด ยาระงับประสาท ยาปฏิชีวนะ ยารักษาโรคซึมเศร้า ยารักษาเบาหวานชนิดรับประทาน ก่อนใช้ยาใด ๆ จึงควรอ่านฉลากหรือปรึกษาเภสัชกรถึงผลข้างเคียงทุกครั้ง

5. มะเร็งผิวหนัง มีงานวิจัยอ้างว่ารังสียูวีทำให้เกิดอนุมูลอิสระที่เป็นอันตรายต่อเซลล์ในร่างกาย นอกจากนั้น รังสียูวียังเข้าทำลาย DNA ของเซลล์ผิวหนังได้โดยตรง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้


ผลกระทบต่อดวงตา

1. กระจกตาอักเสบและเยื่อบุตาอักเสบ มักเกิดขึ้นหลังจากได้รับรังสียูวีปริมาณสูงเพียงไม่กี่ชั่วโมง ส่งผลให้ตาแดง แสบ คัน และระคายเคืองตาได้ ทั้งนี้ กระจกตาที่อักเสบรุนแรงอาจทำให้เซลล์ผิวชั้นนอกของลูกตาถูกทำลายจนมองไม่เห็นชั่วคราว แต่ส่วนใหญ่ร่างกายจะสร้างเซลล์ขึ้นใหม่อย่างรวดเร็วและกลับมามองเห็นภายใน 2-3 วัน และขณะมีการผลัดเซลล์ที่ตายทิ้งจะส่งผลให้รู้สึกเจ็บปวดอย่างมาก อีกทั้งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น น้ำตาไหล มีอาการระคายเคืองเรื้อรัง เป็นต้น

2. ต้อกระจก เกิดจากการมีโปรตีนสะสมและปกคลุมในเลนส์แก้วตา ทำให้การมองเห็นภาพขุ่นมัว และอาจรุนแรงถึงขั้นตาบอดได้ ซึ่งสาเหตุหลักการเกิดต้อกระจกเป็นเพราะการเสื่อมของเลนส์แก้วตาเนื่องจากอายุที่มากขึ้น แต่รังสียูวีบีก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่อาจก่อให้เกิดต้อกระจกได้เช่นกัน

3. ต้อเนื้อ อาจเป็นผลกระทบในระยะยาวหากได้รับรังสียูวีอย่างต่อเนื่อง เกิดขึ้นเมื่อแผ่นเนื้อบริเวณเยื่อบุตายื่นเข้าไปในตาดำ หากแผ่นเนื้อนี้ขยายใหญ่ขึ้นอาจบดบังการมองเห็นและอาจต้องรักษาโดยการผ่าตัด


ผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน

รังสียูวีอาจอันตรายต่อ DNA และส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และเป็นปัจจัยก่อให้เกิดโรคมะเร็งตามมา นอกจากนี้ การได้รับรังสียูวีในปริมาณสูงยังส่งผลให้วัคซีนทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ทั้งยังมีงานวิจัยอ้างว่ารังสียูวีบีส่งผลให้ร่างกายควบคุมไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคเริมได้น้อยลง ทำให้ผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคเริมมีโอกาสกลับมาเป็นอีก


118 views0 comments

Comments


bottom of page